สช. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษบนฐานพหุปัญญา รุ่นที่ 2 ระดับมัธยมศึกษา

11 มี.ค. 66 เวลา 15:25 น.1668 ครั้งพิมพ์
นายฐิติวัจน์ ชัยกิมานนท์
กลุ่มเลขานุการกรม

วันนี้ (11 มีนาคม 2566) นายธเนตร สภานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชน เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษบนฐานพหุปัญญา รุ่นที่ 2 ระดับมัธยมศึกษา โดยมีนางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ นายกสมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ คณะวิทยากร ผู้บริหาร ครูแนะแนว และบุคลากรในโรงเรียนเอกชน จำนวนทั้งสิ้น 35 โรงเรียน เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ฯ ในครั้งนี้ ณ โรงแรมดิไอเดิล เซอร์วิส เรสซิเดนซ์ จังหวัดปทุมธานี

นายธเนตร กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กด้อยโอกาส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีกิจกรรมการสำรวจแววความสามารถพิเศษของนักเรียนในโรงเรียนเอกชน โดยได้พัฒนาระบบสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษของโรงเรียนเอกชน เพื่อใช้ในการคัดกรองและค้นหาความสามารถพิเศษของนักเรียน และเพื่อส่งเสริมให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษบนฐานพหุปัญญาครั้งนี้ เป็นการจัดอบรมเพื่อฝึกปฏิบัติการใช้แบบสำรวจแววความสามรถพิเศษ ตามแนวทางการใช้แบบสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษ ของสำนักวิชาการและมาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดจัดอบรม จำนวน 2 รุ่น แบ่งเป็นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมในรุ่นที่ 2 ระดับมัธยมศึกษา มีระยะเวลา 2 วัน คือวันที่ 11 - 12 มีนาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้บริหาร ครูแนะแนว และบุคลากรในโรงเรียนจำนวน 70 คน จากโรงเรียน จำนวน 35 โรงเรียน โดยรองศาสราจอุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ นายกสมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดทีมวิทยากรและหลักสูตรในการอบรม เพื่อสร้างความรู้ และความเข้าใจในประเด็นคำถามของแบบสำรวจแววความสามารถพิเศษ และแนวทางการนำแบบสำรวจความสามารถพิเศษไปใช้คัดกรอง วิเคราะห์ และวินิจฉัยนักเรียนเป็นรายบุคคล นอกจากนั้นผู้เข้าอบรมจะได้ฝึกการใช้ระบบสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษและเป็นโรงเรียนนำร่องในการใช้ระบบดังกล่าว ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปออกแบบจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนต่อไป

โดยนางภัทราพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เปรียบเสมือนสายรุ้งที่หลากสี ซึ่งมีดีกันคนละอย่าง การวัด IQ ของคนนั้น ไม่เพียงพอที่จะชี้นำไปสู่การแสดงความสามารถของเขาเหล่านั้นได้ เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ ไม่จำเป็นว่าจะฉลาดกว่าเด็กที่คิดเลขไม่ค่อยได้ เด็กที่คิดเลขไม่ค่อยได้เขาอาจมีปัญญาชนิดอื่นที่เก่งกว่า เช่น ปัญญาด้านภาษา ปัญญา ด้านดนตรี หรือด้านกีฬา เป็นต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ตามทฤษฎีพหุปัญญา หรือ Multiple Intelligences ที่คิดค้นโดย Dr. Howard Gardner โดยได้ระบุความสามารถพิเศษของคนไว้ 8 ด้าน ประกอบด้วย ปัญญาด้านภาษา ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ปัญญาด้านดนตรี ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง และปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับทฤษฎีพหุปัญญาเป็นอย่างมาก โดยกำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ หมวดประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ (2561 – 2580) โดยมีเป้าหมายให้คนไทย ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพตามความถนัดและความสามารถของพหุปัญญาด้วยความสำคัญของทฤษฎีพหุปัญญา และเพื่อตอบสนองแผนแม่บทดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จึงกำหนดนโยบายให้มีการสร้างเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้มีการพัฒนาที่สมดุล รวมทั้งมีกลไกคัดกรองเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญลำดับแรกที่ต้องดำเนินการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้พัฒนาระบบสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษไว้พร้อมแล้ว จึงจัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อจะได้นำวิธีการสำรวจดังกล่าว ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

รายการกิจกรรมผู้บริหารอื่นๆ