สช. จัดประชุมชี้แจงการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเอกชน

29 มี.ค. 66 เวลา 10:56 น.3830 ครั้งพิมพ์
น.ส.ประกาย ศรีจันทึก
กลุ่มเลขานุการกรม

                 เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (29 มีนาคม 2566) นายทวีศักดิ์ อำลา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเอกชน โดยมีนางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยคณะวิทยากร คณะทำงาน คณะผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชน เข้าร่วมการประชุม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 6,000 คน ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook Live โดยถ่ายทอดสดจากห้องประชุมวิเวก ปางพุฒิพงศ์ ชั้น 2 อาคาร สช.

 

                 นายทวีศักดิ์ อำลา กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ มีจุดเน้นและนโยบายที่กำหนดให้สถานศึกษาจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน รวมทั้งบ่มเพาะให้ผู้เรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสานและต่อยอด และนำมาปรับประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน โดยได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2565 ให้จัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี) และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต) ตามแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์

                 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จึงได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของจุดเน้นและนโยบายดังกล่าว จึงกำหนดให้มีการประชุมฯ ขึ้นในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจง และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ได้ และสามารถบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ ทั้งด้านหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการเลือกใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ และด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่ ในการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่หลากหลายและน่าสนใจ นายทวีศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

กลุ่มพัฒนาคุณภาพการศึกษา กลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา / ภาพ

ประกาย ศรีจันทึก / ข่าว

ประชาสัมพันธ์ สช.