เลขาธิการ กช. ร่วมงาน “ศึกษาธิการ - แรงงาน ร่วมใจ สู่ไทยมีงานทำ”

27 มี.ค. 66 เวลา 14:55 น.3299 ครั้งพิมพ์
น.ส.ประกาย ศรีจันทึก
กลุ่มเลขานุการกรม

(27 มีนาคม 2566) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงผลงานการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียนนักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน “ศึกษาธิการ - แรงงาน ร่วมใจ สู่ไทยมีงานทำ” โดยมี ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) หน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในความร่วมมือกันเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทําให้แก่นักเรียน นักศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และได้ขยายผลการดําเนินงานไปสู่ภาคประชาชน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายรัฐบาล โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นส่งเสริมให้กลุ่มแรงงานทางสายอาชีพ พัฒนาศักยภาพ และทักษะฝีมือ ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ เป็นกลไกสําคัญในการสร้างรากฐาน และ เป็นหลักประกันความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว รวมถึงรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต และการพัฒนาประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดําเนินการร่วมกัน 1 ปี เกิดผลสําเร็จของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ของทั้งสองกระทรวง ที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษา และประชาชน ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรและด้านการพัฒนาบุคลากรและครูผู้สอน การส่งเสริมการจัดอาชีวศึกษาด้านระบบทวิภาคี มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ในสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งสํานักงานคณะกรรมการการ อาชีวศึกษา (สอศ.) และสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งปัจจุบันมีจํานวนทั้งสิ้น 264 แห่งทั่วประเทศ

 

นอกจากนี้ ทาง สอศ.และภาคีเครือข่ายได้จัดการศึกษาด้านอาชีวะกระจายสู่ประชาชน ในทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทั้งสถานศึกษาของภาครัฐและเอกชน และการศึกษานอกระบบ ของสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ ทั้ง Up skill Reskill และ New skill ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย โดยเชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเป็นการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสนับสนุนการเรียนการสอนด้านสายอาชีพ ในรูปแบบทวิศึกษา เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีทางเลือกทางการศึกษาของตนเอง อีกทั้งยังได้มอบหมายให้สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดําเนินการเชื่อมโยงหลักสูตรต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นไปตามตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และสามารถเทียบโอนสะสมในธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank

 

การบูรณาการการทํางานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง ส่งผลทําให้เกิดประโยชน์ต่อ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ ที่จะได้รับการพัฒนา และเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศไทย โดยนําการศึกษามาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาฝีมือ เพื่อเป็นกลไกในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม และทุกช่วงวัย ในทุกครอบครัวมีอาชีพ มีรายได้ อยู่ดี กินดี มีความสุข นําไปสู่สังคมคุณภาพ ขณะเดียวกันสถานประกอบการทุกแห่งในประเทศไทย จะมีบุคลากรที่มีฝีมือระดับมาตรฐานสากลเป็นผู้ร่วมงาน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อธุรกิจ และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นระบบ

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น กล่าวด้วยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายสำคัญในส่งเสริมการมีงานทำและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษา และการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการในการส่งเสริมการมีงานทำพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่าง กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสถานประกอบกิจการในครั้งนี้ จึงเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้กับภาคธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างตรงจุด ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านฐานข้อมูลระบบ Big Data ประกอบด้วย ข้อมูลนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งข้อมูล ด้านแรงงาน เช่น ตำแหน่งงานว่าง สถานประกอบการที่ต้องการแรงงาน ข้อมูลการทดสอบ มาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นต้น เพื่อให้ทั้งสองหน่วยงานสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ ประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนนำไปวิเคราะห์ข้อมูลกำลังแรงงานด้านอุปสงค์และอุปทาน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

 

ด้านนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในวันนี้ ได้นำเสนอผลงานนิทรรศการของโรงเรียนเอกชนด้านหลักสูตรและการสอนจำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนศูนย์การศึกษาเทคโนโลยีและภาษาธุรกิจ  และโรงเรียนการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยวนานาชาติ (ITIM) โดยได้แสดงหลักสูตรฐานสมรรถนะโรงเรียนนอกระบบที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จำนวน 7 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการบริการนักท่องเที่ยว การออกแบบและจัดการเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การออกแบบและจัดการอาหารเพื่อสุขภาพ การออกแบบและจัดการเบเกอรี่เพื่อสุขภาพ การสนทนาภาษาอังกฤษสำหรับการบริการขนส่งทางบกเพื่อการท่องเที่ยว การสนทนาภาษาจีนสำหรับการบริการขนส่งทางบกเพื่อการท่องเที่ยว การสนทนาภาษาอังกฤษสำหรับการบริการอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทําให้แก่นักเรียน นักศึกษา สังกัด สช. และได้ขยายผลการดําเนินงานไปสู่ภาคประชาชนเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการจะได้พัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือ ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานต่อไป

  

กรรณิกา พันธ์คลอง : ข่าว

ประกาย ศรีจันทึก : ภาพ

ประชาสัมพันธ์ สช.