เช้าวันนี้ (16 มีนาคม 2566) เวลา 09.00 น. นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนการศึกษาพิเศษที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ โดยมีนางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม กรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ คณะวิทยากร พร้อมด้วย ผู้บริหารและครูโรงเรียนการศึกษาพิเศษ จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ฯ ครั้งนี้ ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ รัชดา เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
นายมณฑล กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยมีนโยบายการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ตามแผนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566 – 2570) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษาทุกระดับทุกระบบอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสม และพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เรียนรู้ทักษะวิชาการ พัฒนาทักษะชีวิต และประกอบอาชีพตามความสามารถ พึ่งตัวเองได้ ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าคนปกติ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค หรือมีข้อจำกัดน้อยที่สุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งรับผิดชอบดูแลโรงเรียนการศึกษาพิเศษ จำนวน 21 โรง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลและจัดการศึกษาให้เฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องในแต่ละประเภทในระดับที่รุนแรง และไม่สามารถเรียนรวมกับเด็กปกติได้ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของนโยบายดังกล่าว ประกอบกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะ ผ่านหลักสูตรสถานศึกษาไปสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนให้เป็นรูปธรรม และให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริง
โดยการอบรมในครั้งนี้ตนหวังว่าผู้บริหารและครูในโรงเรียนการศึกษาพิเศษทั้ง 21 โรง จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียนพิการในโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม ครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นการสร้างสมรรถนะผู้เรียนได้ และสามารถวัดและประเมินผลผู้เรียนได้ตรงตามศักยภาพที่แตกต่างกันของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนมีสมรรถนะหลักที่สำคัญจำเป็น มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีความสามารถและศักยภาพในการดำรงชีวิต และปรับตนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้มีสมรรถนะที่เหมาะสมต่อการพัฒนาตัวเองและประเทศชาติได้ต่อไป
นางภัทราพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ฯ จัดขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารและครูในโรงเรียนการศึกษาพิเศษมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรสมรรถนะ การจัดการเรียนรู้ และการวัดประเมินผล สามารถจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่มุ่งสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนได้ ซึ่งการอบรมฯ ครั้งนี้เป็นการอบรมชุดการเรียนรู้ที่ 1 ครั้งที่ 1 ในรูปแบบ Onsite จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2566 และครั้งที่ 2 จะเป็นการอบรม Online ในวันที่ 3 – 4 เมษายน 2566 มีผู้บริหารและครูในโรงเรียนการศึกษาพิเศษเข้าร่วมอบรมจำนวนทั้งสิ้น 81 คน 18 โรงเรียน โดยมีรองศาสตราจารย์ ประภาภัทร นิยม กรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ พร้อมด้วยคณะวิทยากรร่วมการจัดทำหลักสูตรการอบรมในครั้งนี้
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์
การเรียนรู้เชิงสมรรถนะในครั้งนี้ แบ่งการอบรมออกเป็น 4 ชุดการเรียนรู้ ชุดการเรียนรู้ละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ในแต่ละชุดการเรียนรู้จะมีรูปแบบและระยะเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะมีการดำเนินการในชุดการเรียนรู้ที่ 1 – 3 จากนั้นชุดการเรียนรู้ที่ 4 จะเป็นการดำเนินการในปีงบประมาณถัดไปเพื่อเป็นการนำเสนอผลการนำหลักสูตรสถานศึกษาที่ได้จากการอบรม 3 ชุดการเรียนรู้ ไปทดลองใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
ขวัญข้าว แสนบ่อ : ภาพ/ข่าว
ประชาสัมพันธ์ สช.